น้ำรั่วตามขอบวงกบประตูหน้าต่างเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในหลาย ๆ บ้าน ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เนื่องจากน้ำที่รั่วซึมเข้ามานั้นทำให้คอนกรีตมีความชื้นสะสมอยู่ตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไปสีภายในหรือวอลเปเปอร์ที่เราติดเอาไว้จะเกิดการลอกล่อน และการซ่อมแซมถือเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะเราไม่สามารถซ่อมแซมวอลเปเปอร์หรือทาสีเฉพาะจุดให้กลับมากลมกลืนเหมือนเดิม

ในบทความนี้ เราจะพามาดูขั้นตอนการซ่อมแซมน้ำรั่ว ตามขอบวงกบประตูหน้าต่างอย่างง่าย ๆ และซ่อมแซมเองได้ก่อนปัญหาจะบานปลาย โดยท่านเจ้าของบ้านสามารถเตรียมตัวและปฎิบัติตามขั้นตอนที่เราแนะนำได้เลย

ตรวจสอบจุดน้ำรั่วและประเมินความเสียหาย

ตรวจสอบความเสียหายเพื่อหาจุดที่น้ำรั่วเข้ามา ทั้งภายในและภายนอก เช่น รอยแตกหรือรอยร้าวของผนัง รอยร้าวของประตูหรือหน้าต่าง การเสื่อมสภาพของยาแนว ซึ่งความเสียหายแต่ละแบบมีวิธีในการซ่อมแซมที่แตกต่างกัน และต้องประเมินด้วยว่าจุดที่ต้องซ่อมแซมใหญ่เกินกว่าที่สามารถซ่อมแซมเองได้ไหม

เตรียมเครื่องมือและวัสดุ

เตรียมเครื่องมือและวัสดุที่จำเป็นสำหรับการซ่อมแซม เกรียง แปรงปัดฝุ่น เครื่องเจียรมือ เศษผ้าสำหรับใช้แล้วทิ้ง วัสดุยาแนวพร้อมอุปกรณ์การยิง เทปกาว วัสดุโป๊วปิดผิว สีทาภายนอกที่กลมกลืนกับสีเดิม

ขั้นตอนแรก รื้อยาแนวเก่าพร้อมกับทำความสะอาดพื้นผิว

การซ่อมแซมรอยรั่วซึม เราไม่ควรยิงยาวแนวใหม่เข้าไปทับโดยทันทีเพราะจะทำให้เกิดปฎิกริยาของเคมีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของเนื้อยาแนวใหม่ที่ยิงทับลงไปได้ ดังนั้นการลอกยาแนวเก่าออกให้ได้มากที่สุด* จะเป็นการซ่อมแซมที่ให้ผลอย่างถาวร ให้ทำการรื้อโดยใช้เกรียงค่อย ๆ ลอกสีและปูนทับหน้าออกก่อน จากนั้นใช้เกรียงหรือคัตเตอร์กรีดเลาะ ยาแนวเก่าออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงเริ่มทำความสะอาดร่องด้วยแปรงและผ้าสะอาด เพื่อให้เนื้อยาแนวยึดเกาะกับตัวคอนกรีตและวงกบได้อย่างดี

* ในขั้นตอนปฎิบัติตามมาตรฐานหลังจากรื้อยาแนวเก่าออก ควรตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อยาแนวเดิม ว่าส่งผลกระทบต่อยาแนวที่ทำการยิงใหม่หรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา การตรวจสอบยกตัวอย่างเช่น ประสิทธิภาพการยึดเกาะ, ปฎิกริยาเคมีที่มีผลต่อกัน

ขั้นตอนที่สอง ยิงยาแนวใหม่เข้าไป

การยิงยาแนวควรยิงให้เต็มร่องจนล้นออกมานิดหน่อยเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างจนน้ำรั่วเข้าไปได้อีก หากกังวลในการปาดแต่งผิวสามารถใช้เทปกาวแปะตามขอบเพื่อกันยาแนวเลอะได้

ชนิดของยาแนวที่นำมาใช้ซ่อมแซมงานลักษณะนี้ ตัวอย่างเช่น ซีลเลกซ์ Sx-100 ไฮบริด โพลิเมอร์ จะมีคุณสมบัติสำคัญคือ มีความยืดหยุ่นตัวสามารถรับการยืดขยายตัวของวัสดุได้ ทนทานรังสียูวีไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสีที่ทาทับหน้า ยึดเกาะกับผิวของคอนกรีตและขอบวงกบชนิดต่าง ๆ ได้ดี และสามารถใช้งานได้แม้พื้นผิวคอนกรีตเปียกชื้น

ขั้นตอนสุดท้าย การเก็บความเรียบร้อย

ขั้นตอนการซ่อมแซมเป็นที่แน่นอนว่ามักจะทำให้พื้นผิวข้างเคียงมีความชำรุดเสียตามมาด้วยสีร่อนบ้าง ปูนฉาบแตกร้าวหลุดบ้าง แต่แลกกับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด น้ำไม่รั่ว พื้นที่ด้านในบ้านไม่เกิดปัญหา ถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่า การเก็บงานสามารถทำได้หลายวิธีตามมาตรฐานความชำนาญของแต่ละบุคคล แต่วิธีการที่นิยมและง่ายที่สุดคือการใช้ปูนโป๊วสำเร็จ โป๊วปิดรอยแตกต่าง ๆ ที่เกิดจากนั้นปาดแต่งให้เรียบสวยแล้วจึงขัดออกให้พื้นผิวกับเสมอเท่ากับของเดิม จากนั้นจึงทาสีทับจึงถือว่าเป็นการเสร็จงาน

ข้อควรระวัง 

ข้อควรระวัง การซ่อมแซมจุดรั่วซึมที่มีความซับซ้อนหรือพื้นที่การทำงานเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ท่านเจ้าของบ้านควรพิจารณาว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาซ่อมแซมให้ โดยให้กำหนดวิธีการซ่อมแซมและเลือกวัสดุที่นำมาใช้ซ่อมแซมให้ชัดเจนตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอราคา